Please use this identifier to cite or link to this item: http://ir.mju.ac.th/dspace/handle/123456789/1170
Title: การยกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์ดาวเรืองฝรั่งเศสโดยวิธีการทำ seed priming
Other Titles: Seed quality enhancement in French marigold (tagetes patula) by priming method
Authors: จินตนา สงฤทธิ์
Keywords: ดาวเรือง -- เมล็ดพันธุ์
ดาวเรือง -- การขยายพันธุ์
Issue Date: 2020
Publisher: Maejo University
Abstract: จุดประสงค์การทำวิจัยเพื่อต้องการประเมินผลของชนิดและความเข้มข้นของสารเคมีต่อการยกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์ดาวเรืองฝรั่งเศสโดยการเตรียมการงอกเมล็ดหรือการทำ seed priming และต้องการทราบสภาพที่เหมาะสมในการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการยกระดับคุณภาพ ซึ่งในการวิจัยได้แบ่งเป็น 4 การทดลอง ในการทดลองแรกศึกษาผลระยะเวลาการแช่เมล็ดด้วยน้ำที่เหมาะสมในการทำ seed priming เมล็ดพันธุ์ดาวเรืองโดยการแช่เมล็ดในน้ำเป็นระยะเวลา 0, 4, 5, 6, 7, 8, 9 และ 10 ชั่วโมง จากนั้นนำเมล็ดมาลดความชื้นเท่ากับความชื้นเมล็ดเริ่มต้น (3.7%) ด้วยการใช้ซิลิก้าเจล และนำเมล็ดไปทดสอบความงอกในสภาพห้องปฏิบัติการโดยวิธีเพาะบนกระดาษชื้น ผลที่ได้พบว่าการแช่เมล็ดในน้ำที่ 8 ชั่วโมง เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมในการยกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์ดาวเรือง เนื่องจากเมล็ดมีเปอร์เซ็นต์การงอกและดัชนีความเร็วในการงอกสูงที่สุดเมื่อทดสอบในสภาพห้องปฏิบัติการ ดังนั้น จึงได้นำระยะเวลาการแช่เมล็ดที่ 8 ชั่วโมง ไปใช้เพื่อการทำ seed priming ในการทดลองอื่นๆ ต่อไป การทดลองที่ 2 ศึกษาผลของการทำ seed priming ด้วยกรดซาลิไซลิก (Salicylic acid; SA) และ กรดจิบเบอเรลลิก (Gibberellic acid; GA3) ต่อการยกระดับการงอกของเมล็ดพันธุ์ดาวเรือง โดยแช่เมล็ดในสารละลาย GA3 (250, 500 และ 1000 mg/l) สารละลาย SA (70, 100 และ 130 mg/l) และแช่เมล็ดในน้ำเป็นเวลา 8 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส จากนั้นนำเมล็ดมาล้างน้ำและทำการลดความชื้นเมล็ดลงเท่ากับค่าความชื้นเมล็ดเริ่มต้น (3.7%) ด้วยการใช้ซิลิก้าเจล และนำเมล็ดไปทดสอบความงอกทั้งในสภาพห้องปฏิบัติการและสภาพโรงเรือน ผลที่ได้พบว่า การทำ seed priming ด้วย SA ความเข้มข้น 130 mg/l มีความเหมาะสมต่อการยกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์ดาวเรือง เนื่องจากส่งเสริมให้เมล็ดมีค่าเปอร์เซ็นต์การงอก ดัชนีความเร็วในการงอกสูงที่สุด และใช้เวลาเฉลี่ยในการงอกที่น้อยทั้งในสภาพห้องปฏิบัติการและสภาพโรงเรือน ยิ่งกว่านั้นในการทดลองที่ 3 ได้นำเมล็ดพันธุ์ดาวเรืองที่ผ่านการทำ seed priming ด้วย SA มาตรวจสอบความแข็งแรงโดยวิธีการเร่งอายุที่อุณหภูมิ 40 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 100% เป็นเวลา 4 วัน แล้วนำมาเพาะในห้องปฏิบัติการและโรงเรือน เมล็ดยังคงมีความงอกและความแข็งแรงที่สูงทั้งในสภาพห้องปฏิบัติการและสภาพโรงเรือน ในขณะเดียวกัน พบว่า ต้นกล้ามีความยาวยอด ความยาวรากและน้ำหนักแห้งสูงสุดในสภาพโรงเรือน การทดลองที่ 4 ศึกษาผลของการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ดาวเรืองหลังการทำ seed priming โดยนำเมล็ดมาเก็บรักษาในสภาพปิดในซองอลูมิเนียมฟอยด์ปิดผนึกกันความชื้น และแยกเก็บรักษาไว้ที่ 2 สภาพอุณหภูมิ ได้แก่ 5 และ 25 องศาเซลเซียส เป็นระยะเวลา 6 เดือน จากผลการทดลอง พบว่า การเก็บรักษาเมล็ดที่ผ่านการทำ seed priming ด้วย SA ความเข้มข้น 130 mg/l เป็นระยะเวลา 6 เดือน เมล็ดยังคงมีเปอร์เซ็นต์การงอกและงอกเร็ว หลังเก็บไว้ทั้งใน 5 และ 25 องศาเซลเซียส เมื่อนำเมล็ดมาทดสอบความงอกทั้งในสภาพห้องปฏิบัติการและสภาพโรงเรือน การเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส มีผลต่อน้ำหนักแห้งสูงที่สุดเมื่อเพาะเมล็ดในสภาพโรงเรือน ในขณะที่การเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส มีผลต่อความสม่ำเสมอในการงอกของต้นกล้าโดยเมื่อนำเมล็ดมาเพาะทั้งในห้องปฏิบัติการและโรงเรือน เมล็ดมีค่าดัชนีความเร็วสูงสุด อย่างไรก็ตามการทำ seed priming ด้วย SA ความเข้มข้น 130 mg/l และเก็บรักษาที่อุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส ส่งผลให้ต้นกล้ามีความยาวยอด ความยาวราก และน้ำหนักสดสูงที่สุดในสภาพโรงเรือน จากผลการวิจัยในครั้งนี้สามารถสรุปได้ว่า การทำ seed priming เมล็ดพันธุ์ดาวเรืองด้วยกรดซาลิไซลิก SA ความเข้มข้น 130 mg/l มีผลต่อการยกระดับคุณภาพเมล็ดพันธุ์ให้ดีขึ้น โดยเมล็ดมีความงอกที่สูง งอกเร็ว ต้นกล้ามีความสม่ำเสมอของการงอกและการเจริญของต้นกล้าที่ดี โดยมีข้อแนะนำว่าการเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ที่ผ่านการทำ seed priming นั้นควรเก็บที่สภาพอุณหภูมิ 5 องศาเซลเซียส โดยควรบรรจุเมล็ดในภาชนะปิดกันความชื้นเข้าหาเมล็ดในระหว่างการเก็บรักษา ซึ่งวิธีการดังกล่าวจะมีผลต่อการรักษาคุณภาพเมล็ดพันธุ์ให้ยังคงสูงอยู่และมีผลต่อมีการเจริญของต้นกล้าที่ดีหลังการนำเมล็ดไปเพาะในแปลงปลูก
URI: http://ir.mju.ac.th/dspace/handle/123456789/1170
Appears in Collections:Engineering and Agro - Industry

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
Chintana_Songeit.pdf2.44 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.