Please use this identifier to cite or link to this item: http://ir.mju.ac.th/dspace/handle/123456789/1094
Title: การศึกษาพัฒนาการทางสัณฐานวิทยาและชีวเคมีของผลชาน้ำมันดอกขาว
Other Titles: Study on morphological development and biochemistry of oil - tea fruits (Camellia oleifera Abel.)
Authors: สุณิสา สัมมา
Issue Date: 2019
Publisher: Maejo University
Abstract: การศึกษาพัฒนาการทางสัณฐานวิทยาและชีวเคมีของผลชาน้ำมันดอกขาว มีความสำคัญเนื่องจากสามารถใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการเพิ่มปริมาณและคุณภาพผลผลิต การเปลี่ยนแปลงทางสัณฐานวิทยาที่เกิดขึ้นในระหว่างการพัฒนาผลชาน้ำมันดอกขาวที่ติดผลในช่วงเวลาที่ต่างกัน (เดือนกันยายน คือช่วงต้นฤดูและเดือนมกราคมคือช่วงในฤดู) บนพื้นที่แปลงปลูกชาน้ำมันบ้านปูนะ อ.แม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย เก็บข้อมูลการเปลี่ยนแปลงทางสัณฐานวิทยาทุก 1 เดือน ตั้งแต่อายุ 1 - 10 เดือน (หลังจากดอกบาน) ผลการศึกษา พบว่า พัฒนาการทางสัณฐานวิทยาของผลชาน้ำมันที่ติดผลทั้งสองฤดูมีลักษณะการเจริญเติบโตที่คล้ายกันคือ มีรูปแบบการเจริญเติบโตเป็น single sigmoid curve การเจริญของผลชาน้ำมันตั้งแต่ติดผลจนถึงผลแก่เก็บเกี่ยวใช้เวลา 10 เดือน รูปทรงของผลเป็นแบบกลมแบน (Oblate) มีการเจริญของความกว้างผลมากกว่าความยาวผล สีผลจัดอยู่ในกลุ่ม Yellow green group ในช่วงแรกสีของผลเป็นสีเขียวเข้มและค่อยๆอ่อนลงเมื่อมีอายุผลมากขึ้น สีของเมล็ดมีสีขาวถึงขาวครีมตั้งแต่อายุผล 1 - 5 เดือน และมีสีน้ำตาลเข้มถึงดำตั้งแต่เดือนที่ 7 - 10 การเจริญของผลในช่วงแรกมีลักษณะคล้ายกันและเมื่อผลในฤดูมีอายุผลตั้งแต่ 5 เดือนขึ้นไปจะมีน้ำหนัก ความกว้าง และความยาว เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งพบว่าผลที่ติดต้นฤดูมีการเจริญเติบโตของผลน้อยกว่าผลที่ติดในฤดูอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การศึกษาระยะที่เมล็ดเริ่มมีการสะสมแป้งและน้ำมันภายในเมล็ด เมื่ออายุผลชาน้ำมัน 3 - 5 เดือน ไม่พบการสะสมแป้งและน้ำมันในเนื้อเมล็ด เมื่อผลชาน้ำมันมีอายุ 6 เดือน พบว่าเมล็ดชาน้ำมันเริ่มมีการสะสมแป้งและน้ำมันซึ่งมีการสะสมมากขึ้น จนกระทั่งมีปริมาณมากที่สุดเมื่อผลชาน้ำมันมีอายุ 10 เดือน การประเมินความแตกต่างจากพื้นที่การติดสี การสะสมแป้งและน้ำมันภายในเมล็ดของทั้งสองฤดูมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมล็ดที่ติดผลต้นฤดูมีการสะสมเม็ดแป้งในเดือนที่ 6, 8 และ 9 มากกว่าเมล็ดที่ติดในฤดูอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติยิ่ง แต่พบว่า เมล็ดที่ติดผลในฤดูมีการสะสมเม็ดแป้งในเดือนที่ 7 และ 10 มากกว่าเมล็ดที่ติดต้นฤดูอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ การสะสมหยดน้ำมันของเมล็ดชาน้ำมันที่ติดผลต้นฤดูมีการสะสมหยดน้ำมันมากกว่าเมล็ดที่ติดในฤดูอย่างมีนัยสำสำคัญทางสถิติ การศึกษาการเปลี่ยนแปลงความชื้นของเมล็ดชาน้ำมันทั้งสองฤดูมีปริมาณลดลงเมื่อเมล็ดมีอายุมากขึ้นจนกระทั่งถึงการเก็บเกี่ยว ปริมาณน้ำมันที่ช่วงเก็บเกี่ยว (อายุ 10 เดือน) ของเมล็ดชาทั้งสองฤดูมีปริมาณคือ ต้นฤดูร้อยละ 38.15 ซึ่งมากกว่าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติกับในฤดูร้อยละ 36.00 นอกจากนี้ชนิดกรดไขมันของเมล็ดชาน้ำมันที่พบมี 4 ชนิดคือ กรดไขมันไม่อิ่มตัวพบในปริมาณสูงประมาณร้อยละ 85.54 - 87.41 ประกอบด้วย กรดโอเลอิกร้อยละ 84.86 - 86.74 และกรดอีโคซีโนอิกร้อยละ 0.51 - 0.81 กรดไขมันอิ่มตัวพบในปริมาณต่ำ ซึ่งกรดไขมันที่พบนี้ประกอบไปด้วย กรดปาล์มิติกและกรดสเตียริกพบระหว่างร้อยละ 12.81 - 14.71
URI: http://ir.mju.ac.th/dspace/handle/123456789/1094
Appears in Collections:Liberal Arts

Files in This Item:
File Description SizeFormat 
Sunisa_Samma.pdf5.15 MBAdobe PDFView/Open


Items in DSpace are protected by copyright, with all rights reserved, unless otherwise indicated.